องค์ความรู้ > บทความพิเศษ > เรียนเพื่อคิด คิดได้ต้องรู้จริง
เรียนเพื่อคิด คิดได้ต้องรู้จริง

"เรียนแต่ไม่ใช้ปัญญาคิด ก็เรียนเสียเปล่า การคิดแต่ไม่ได้เรียน ก็เป็นอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย" เป็นคำกล่าวอันอมตะของขงจื้อนักปรัชญาชาวจีน ที่กล่าวไว้เมื่อเกือบสองพันปีที่แล้ว สามารถนำมาเป็นแนวคิดกับวงการฟันดาบในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี กล่าวคือเมื่อนักดาบได้เรียนรู้เทคนิคและแทคติกจากครูดาบ สิ่งสำคัญที่สุดคือเขาได้เกิดปัญญาจากการเรียนรู้นั้นหรือไม่ และนำสิ่งที่ได้จากการฝึกมาสู่่การแข่งขันได้อย่างไร การเกิดแนวคิด โดยการนำทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติอย่างได้ผล เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทักษะด้วยการรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยการชี้แนะ การให้กำลังใจ และความเชื่อมั่น จากครูดาบที่รอบรู้จริง โดยผลงานเชิงประจักษ์นั้นจะไปปรากฎผลจากการประลอง หรือการแข่งขัน เพราะลำพังเพียงแต่ฝึก เรียนรู้เทคนิคและแทคติกจากครูดาบ โดยผ่านไปวันๆ ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร ก็เสียเปล่าอย่างที่ขงจื้อกล่าว ที่สำคัญกว่านั้นคือ การคิดเองโดยจะเป็นจากตัวนักดาบเอง หรือจากตัวครูดาบเอง โดยที่ไม่ได้เรียนรู้มาอย่างถ่องแท้ นับว่าอันตรายยิ่ง การมีความรู้อย่างถ่องแท้นั้นเป็นไปตามลำดับขั้น โดยต้องรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทฤษฎีเป็นเหมือนผังรูปแบบมาตรฐาน ซึ่งผู้รู้ได้รวบรวมและได้รับการพิสูจน์มาแล้ว ทฤษฎีอาจมีหลายรูปแบบ ส่วนปฏิบัติ คือทักษะความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของนักดาบ หรือครูดาบ ซึ่งต่างเป็นแบบฉบับของตัวเอง มีความหลากหลาย  ในส่วนปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องยากและเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่า เขามีความรู้และเชี่ยวชาญเพื่อการถ่ายทอดแค่ไหน ปัญหาคือว่าในระบบของเรานั้นไม่เอื้ออำนวยให้คนของเรารู้ลึก รู้จริง และกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องว่าเรารู้แค่ไหน เราอยู่ในระดับใด การไม่รู้ว่าตัวเรารู้แค่ไหนนั้นยังพอทำเนา ปัญหาสำคัญคือการที่คิดว่าตนเองรู้และคิดว่ารู้แจ้งเห็นจริงโดยที่ตนเองไม่รู้ ทำให้เกิดอัตตาไม่ยอมรับและไม่เปิดกว้างนั้นเป็นเรื่องอันตรายยิ่ง และนั่นคือการพัฒนาของวงการดาบเราที่เป็นอยู่ เห็นได้ว่าครูดาบของเราที่มีอยู่หลายค่าย ทั้งที่เป็นครูดาบไทยหรือครูดาบที่มาจากต่างประเทศก็ไม่สามารถสร้างนักดาบของเราให้โดดเด่นจนแตกต่าง การเล่นของนักดาบเราในแต่ละค่ายจึงไม่แตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่ว่าใครซ้อมมากหรือซ้อมน้อย แม้ว่าการรู้เชิงทฤษฎีของครูดาบเราในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปมากกว่าสมัยก่อนๆ เพราะเอกสารตำราเกี่ยวกับทฤษฎีดาบมีเผยแพร่ ให้หาอ่านอย่างหลากหลาย (ทั้งที่เป็นทฤษฎีถูกต้อง และเป็นทฤษฎีที่เกิดจากความเห็นส่วนตัว) ใครอ่านมากค้นคว้ามากก็รู้มาก แต่แนวทางการปฏิบัตินั้นต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะถ้าไม่ปฏิบัติทักษะจะไม่เกิด ความชำนาญจะไม่มี จะเพียงแค่ดูให้เห็นจะไม่รู้เลยว่า ความรู้สึกในเรื่องระยะ ความรู้สึกในเรื่อง Tempo ความรู้สึกในเรื่อง Rythm ความรู้สึกในเรื่องใบดาบ  ฯลฯ  ซึ่งภาพรวมคือการอ่านสัญญานด้วยการเรียนรู้ในเรื่องความรู้สึก ในการสร้างโอกาสจากความผิดพลาดของคู่ต่อสู้เป็นอย่างไร ซึ่งเข้าข่ายการคิดโดยไม่ได้เรียนรู้จากที่สิ่งควรรู้จริง หรือไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดจากผู้รู้จริง ถือว่าเป็นอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น ความสำคัญจากนี้ไปคือการเร่งสร้างครูดาบที่มีความรอบรู้ ในระดับต่างๆ และสร้างระบบให้ครูดาบเหล่านี้มีมาตรฐาน สามารถที่จะเป็นก้าวเดินไปบนเส้นทางดาบได้ด้วยตัวเอง อย่างมีเกียรติ