

การเป็น DT
(The Directoire Technique) ยากไหม คำตอบคือเป็นไม่ยาก
แต่ถ้าจะเป็นแล้วเป็นให้ดีนั้น คงต้องอาศัยประสบการณ์ ผมจะเขียนเรื่องนี้หลายตอนจบ
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นว่าการเป็น The Directoire Technique หรือเรียกย่อๆว่า DT ที่ดีนั้น
ต้องเตรียมตัวอะไรกันบ้าง
ในกติกา Book
1 มาตรา 97 กำหนดหน้าที่ของ DT ไว้ 7 ข้อดังนี้
1. ประธานเทคนิค
มีอำนาจตามกฏกติกาเหนือกว่านักดาบและผู้ที่มีส่วนร่วมในการแข่งขัน ที่มารายงานตัว
หรืออยู่ในการแข่งขันทุกคน
โดยให้ถือว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมกับการแข่งขันอยู่ภายใต้การอำนวยการนี้
2. เมื่อมีความจำเป็นสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับบรรดาการขัดแย้งทั้งปวงตามที่เห็นว่าจำเป็น
3. รับผิดชอบในการรักษาสภาพและวินัยในระหว่างการแข่งขัน
และอาจใช้บทลงโทษตามที่กำหนดไว้ในกติกา
4. การประกาศการลงโทษทางวินัยในระหว่างการแข่งขันนั้น
ประธานเทคนิคจะส่งตรงไปยังสำนักงานกลางของ FIE รวมทั้งคำร้องขอใดๆ
เกี่ยวกับการตำหนิ การรอการลงโทษ การเพิ่มโทษ หรือการรอการลงโทษถาวร
ตลอดจนการร้องขอการอุทธรณ์ขั้นสุดท้าย
5. ประธานเทคนิค
จะดำเนินการให้มีการลงโทษ ตามโทษทั้งที่ไม่มีการอุทธรณ์
หรือที่มิได้มีการรอการลงโทษ (ดู ม.95)
6. การตัดสินของประธานเทคนิคจะใช้สิทธิในการพิจารณา
(เป็นอำนาจหน้าที่ในลำดับแรก)*(ถ้าไม่ได้ข้อยุติ)
เป็นผู้ทำหน้าที่อุธรณ์ไปยังกรรมาธิการควบคุมระเบียบวินัยของ FIE
7. บรรดาคำตัดสินของประธานเทคนิคนั้นจะต้องมีการบังคับใช้ในทันที
การอุทธรณ์ใดๆไม่ทำให้เป็นการชะงักการที่จะปฏิบัติตามคำตัดสินในระหว่างการแข่งขัน
สรุปโดยรวมประธานเทคนิคทำหน้าที่ในการอำนวยการแข่งขัน
ทำให้แข่งขันนั้นให้ราบรื่น
โดยอาศัยกฎกติกาเป็นกรอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่ในวินัยการแข่งขัน
ที่ผมเขียนมานี้ออกจะเป็นวิชาการไปสักหน่อย การที่จะเป็น DT
ที่เก่งนั้นจำเป็นต้องอ่าน ทั้ง Book 1 ที่เกี่ยวกับกฎกติกาและ
Book 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งให้ละเอียด
และต้องอ่านให้เข้าใจด้วย นอกจากอ่านแล้วท่านต้องเชี่ยวชาญงานทางการปฏิบัติ
คือต้องได้มีโอกาสทำงานในหน้าที่ DT จริงๆสักครั้งสองครั้ง
จะทำให้สามารถมองเห็นขั้นตอนของการแข่งขันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
รู้ว่าเวลาไหนจะต้องวางแผนอย่างไรและต้องทำให้แผนนั้นบรรลุผลให้ได้ด้วย นอกจากนี้ต้องเป็นผู้ที่สามารถประสานงานได้สิบทิศ ท่านต้องไม่ลืมว่า DT
นั้นคือผู้ที่จะต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างในการแข่งขัน
ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ DT นั้นถือเป็นผู้ที่ใหญ่สุดในการแข่งขันนั้น
ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ ขอให้ติดตามอ่านไปก่อนนะครับเพราะนี่เพิ่งเริ่มต้น
บทความนี้จะเป็นเหมือนแผนที่นำทางให้กับผู้ที่สนใจอยากจะเป็น DT
ก่อนจะไปถึงเรื่องอื่นๆ
เป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องแนะนำตัวเองก่อนว่า ตัวเองมีดีกรีอะไรมาบ้าง
มีประสบการณ์แค่ไหน ถึงจึงหาญกล้ามาเขียนเรื่องที่กำลังจะเขียนนี้ได้ ก็คงจะเริ่มที่
การเริ่มต้นเป็น DT ผมเป็น DT ให้กับสมาคมฟันดาบฯมาตั้งแต่ปี 2543 ถ้าจำไม่ผิด
บวกลบก็คงไม่ต่างจากปีที่กล่าวถึง 1 ปี
นับรวมมาถึงปัจจุบันก็คงเกือบ 1 ทศวรรษ แรกๆนั้นก็เป็น DT
มือใหม่ แต่อาศัยว่าทุกคนพร้อมให้ความช่วยเหลือ ตอนเริ่มต้นกับงาน DT
ใหม่ๆห็นว่าเป็นงานที่น่าสนุกท้าทาย เป็นงานบริหารจัดการที่แปลกใหม่
เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา สมัยก่อนการแข่งขันในแต่ละวันจะใช้เวลายาวนานมาก
บางครั้งกว่าจะถึงรอบชิงชนะเลิศก็เกือบๆเที่ยงคืน
ทั้งผู้จัดและนักกีฬาต่างสะบักสะบอมกันไปตามๆกัน เมื่อผมเข้ามาเป็น DT ก็เริ่มปฏิวัติวงการ
การแข่งขันโดยเฉลี่ยจะเลิกอยู่ที่ประมาณห้าโมงเย็นถึงหกโมงเย็น ทุกคนก็แฮบปี้
(ขอใช้คำนี้ล่ะครับ) จากนั้นทุกคนก็มีฉันทามติให้ผมเป็น DT อย่างเป็นทางการของสมาคมฟันดาบฯ
ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ (ผมคิดว่าคงไม่มีใครอยากจะเป็นด้วยล่ะครับ
ก็เลยหลอกใช้งานผมไปพรางก่อน) เมื่อเป็น DT แรกๆนั้นงานในหน้าที่ราชการยังไม่มากมายเหมือนในปัจจุบัน
จึงพอปลีกตัวไปศึกษาหาความรู้
ทั้งที่สอบถามเอาจากผู้ตัดสินและนักก๊ฬาของเราที่มีโอกาสไปแข่งขันต่างประเทศ
ปะติดปะต่อกับที่อ่านจาก Book 2 ชนิดที่อ่านแล้วอ่านอีกไม่รู้กี่สิบเที่ยว
เพราะต้องการให้การแข่งขันในประเทศของเราเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สมัยนั้นไม่มีโปรแกรม Engrade
มาช่วยงานแบบสมัยนี้ ผมคิดไปไกลถึงขั้นที่จะเขียนโปรแกรมมาใช้งานเอง
ที่จริงได้เขียนไปบางส่วนแล้วด้วยซ้ำครับ แต่บังเอิญว่าเจ้า Engrade คลอดออกมาเสียก่อน หลังจากเป็น DT ได้หนึ่งถึงสองปีผ่านไป
ระบบการแข่งขันของประเทศไทยก็เข้าสู่ระบบมาตรฐานเทียบเท่ากับ FIE เมื่อได้มีโอกาส Go Inter งานแรกก็ไปอาสาเป็น DT
ร่วมกับประเทศเจ้าภาพคือฮ่องกงในการจัดเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเซีย
หลังจากนั้นก็ก้าวไปเป็น DT ใหญ่จัดการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งเอเซีย
การแข่งขัน World Cup การแข่งขันซีเกมส์ การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก
ซึ่งแต่ละครั้งได้เพิ่มประสบการณ์ให้กับตัวเองมากขึ้นๆ จากการที่ได้เห็นการทำงาน
และร่วมงานกับ DT ระดับโลกและระดับเอเซียที่เป็นมืออาชีพ
เรียนรู้การใช้เครื่องมือที่ช่วยในการบริหารที่ไม่มีอยู่ในตำรา
การได้แลกเปลี่ยนสนทนา การทำงานอย่างใกล้ชิด
และการที่เราได้แสดงให้เขาเห็นประจักษ์ว่าเรามีขีดความสามารถในตัวเราเอง
พร้อมทำทุกสิ่งด้วยตัวเองตามลำพังได้ตามกรอบมาตรฐาน การทำให้นานาชาติยอมรับและเชื่อมั่นในการเป็น
DT ของทีมงานเรานั้น จึงเป็นเหมือนการจบปริญญาเอกทางฟันดาบในสาขาจัดการแข่งขันเลยทีเดียว
ประสบการณ์ที่ผมจะเรียบเรียงให้ท่านได้อ่านในตอนต่อๆไปนั้นเชื่อว่ายังไม่มี
DT
ท่านใดเขียนเผยแพร่มาก่อน
เพราะผมเองก็พยายามหาบทความที่เกี่ยวข้องกับ DT ตาม Internet
ก็ยังไม่เคยเจอเลยครับแม้แต่บทความเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขั้นตอนตั้งแต่การประชุมผู้จัดการทีมหัวข้อสำคัญควรมีอะไรบ้าง
ความสำคัญในการประชุมผู้จักการทีม
การวางแผนการแข่งขันซึ่งขึ้นอยู่กับระดับการแข่งขันว่าจะต้องจัดวางสนามแข่งขันอย่างไร
กี่สนาม การวางตำแหน่งที่ตั้งการทำงานทีมงานของ DT เพื่อให้สามารถควบคุมมองเห็นสนามแข่งขันได้อย่างทั่วถึง
การจัดอบรมเจ้าหน้าที่ประจำสนาม หัวข้อที่จำเป็นในการอบรม การประสานงานกับฝ่าย SEMI เรื่องต่างๆที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ การจัดแผนผังควบคุมส่วนต่างๆเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่นักดาบที่จะมาใช้บริการในเรื่องต่างๆเช่นการรายงานตัว
ที่ตรวจอาวุธ ที่พักคอยก่อนเข้าสนามแข่งขันในรอบ 32 ฯลฯ การประชุมร่วมกับผู้ตัดสินหัวข้อสำคัญที่ต้องพูดคุยโดยเฉพาะด้านเทคนิค
การเตรียมการเรื่องเครื่องมือ
ตลอดจนการใช้เทคนิคต่างๆเพื่อช่วยในการบริหารจัดการได้รวดเร็ว
สุตรการแข่งขันแบบต่างๆ รวมถึงประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่มีตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
ก็คงทะยอยเขียนไปเรื่อยๆจนกว่าจะจบอาจมีถึง 10 ตอนก็เป็นได้ครับ
ผมคงขอจบตอนแรกไว้เท่านี้ครับ