องค์ความรู้ > งานผู้จัดการแข่งขัน > บทสัมภาษณ์ของ Per Palmstrom ผู้จัดการแข่งขันฟันดาบโอลิมปิคที่ปักกิ่ง
บทสัมภาษณ์ของ Per Palmstrom ผู้จัดการแข่งขันฟันดาบโอลิมปิคที่ปักกิ่ง

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.พ.53 ที่ผ่านมาทางสมาคมมีการสอบคัดเลือกโค้ชเพื่อรับทุน FIE ไปศึกษาหลักสูตรโค้ชฟอลย์ที่โดฮา ซึ่งมีการสอบทักษะการฟังภาษาอังกฤษ ในการทดสอบครั้งนี้ทางสมาคมได้นำบทสัมภาษณ์ของ Per Palmstrom ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษมาใช้เป็นบททดสอบว่าผู้ได้รับการคัดเลือกจะสามารถจับประเด็นและเข้าใจในการสนธนาเป็นภาษาอังกฤษมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามบทสัมภาษณ์นี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจที่จะเป็นไดเรคเตอร์เทคนิคหรือ DT มาก ผมจึงขอนำบทสัมภาษณ์นี้มาเล่าสู่กันฟังว่าในการจัดการแข่งขันระดับโอลิมปิคนั้น เขามีข้อสังเกตุอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันฟันดาบ 


Per Palmstrom ชาวสวีเดน เป็นประธานเทคนิคในการจัดการแข่งขันฟันดาบในโอลิมปิคที่ปักกิ่งปี 2008 โดย FIE ได้แต่งตั้งให้เขารับผิดชอบในการแข่งขันครั้งนี้ (โดยมี Competition Manager ของจีนทำงานร่วมด้วย) เพื่อให้เป็นไปตามกติกาที่ FIE กำหนดโดยเฉพาะการจัด Ranking ของนักกีฬา ซึ่งมันหมายถึงว่าจะต้องจัดให้คู่แข่งขันแต่งละคู่พบกันตามระบบ  Ranking  พูดง่ายๆ ก็คือ ควรจะต้องจัดให้ใครแข่งกับใครอย่างถูกต้องตามอันดับ Ranking  และตามเวลาที่กำหนดแน่นอน อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ DT นั้นจะไม่มีการไปควบคุมการแข่งของแต่ละคู่เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของผู้ตัดสิน พูดในอีกแง่หนึ่งก็คือ DT จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่นอกเหนือไปจากผู้ตัดสินคือ ช่วงก่อนที่นักกีฬาจะลงแข่งขันจริง และหลังจากที่นักกีฬาแข่งขันเสร็จ (ทำให้นักกีฬามาแข่งที่สนามได้อย่างถูกต้องตามเวลาที่กำหนด และรับผลการแข่งขันพร้อมกับยืนยันความถูกต้องของมัน และควบคุมให้การแข่งขันดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องปราศจากอุปสรรค อีกทั้งยังมีสิทธิในการตัดเตือนผู้ชมหากประพฤติตนไม่เหมาะสมรวมทั้งให้ใบดำไล่ให้ออกจากสนามแข่งขัน

 

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิคในครั้งนี้นั้น ได้ใช้การแข่งขัน World Championship เป็นการแข่งขันทดสอบก่อนที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิค เพื่อทดสอบความถูกต้องของเครื่องมือ ซึ่งนับว่าการแข่งขันใหญๆ ระดับนั้นเขาก็มักจะมีการจัดการแข่งขันอื่นๆ ก่อนที่จะจัดการแข่งขันใหญ่ๆ ซึ่งเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องน่าคิดสำหรับการแข่งขันระดับใหญ่นานาชาติที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ว่าเราควรจะใช้การแข่งขัน Thailand Open เป็นการทดสอบความพร้อมของสนามและอื่นๆ ต่อเนื่องด้วยการจัด World Championship ซึ่งจะทำให้การจัดของเราเป็นไปอย่างมั่นใจและไร้ข้อผิดพลาด ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อคิดว่าสำหรับ Event ใหญ่ๆ ของเราในอนาคต พูดง่ายๆ ก็คือ ก่อนจะจัดงานใหญ่เราก็ควรทดสอบก่อนด้วยแมทซ์สำคัญๆ หรือ Test Event นั่นเอง



เขากล่าวว่าการจัดการแข่งขันระดับโอลิมปิคที่ยากก็คือ การจะจัดอย่างไรจึงจะทำให้ประทับใจไม่ใช่เฉพาะผู้เข้าชมในสนามอย่างเดียวนะครับ แต่มันจะรวมไปถึงผู้ชมทางจอทีวีทั่วโลก นี่แหละคือเรื่องที่น่าท้าทายมากที่สุด และมันจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องโดยไม่ผิดพลาดโดยเฉพาะด้านกำหนดการและเวลา เพราะการถ่ายทอดทีวีนั่น มันได้ถูกกำหนดแน่นอนแล้วว่าจะถ่ายถอดคู่ชิงเมื่อไร ดังนั้นเราจะต้องควบคุมการแข่งขันให้เป็นไปตามกำหนดการให้ได้มิฉะนั้นมันจะเสียหายต่อการถ่ายทอด และสิ่งท่าทำให้การจัดการแข่งขันฟันดาบยุ่งยากกว่าการจัดการแข่งขันอื่นๆ ก็คือ เรื่องของการเดินสายเคเบิล สายไฟ กล้องถ่ายภาพ เทคนิคต่างๆ ในการถ่ายทอดทั้งทีวีและอินเตอร์เน็ตที่มันซับซ้อนมาก ซึ่งไม่มีการจัดการแข่งขันใดๆ จะยุ่งยากกว่าการจัดการแข่งขันฟันดาบอีกแล้ว อันนี้แหละที่ถือว่ายุงยากมากสำหรับเขา



เมื่อถามถึงปัญหาในการจัดการแข่งขัน เขาบอกว่าเขามักลืมเรื่องของปัญหาไปแล้ว แต่เขากำลังมองหาโอกาสมากกว่าปัญหา นี่แหละคือคุณสมบัติของผู้จัดที่ดีที่ไม่ค่อยกลัวเรื่องปัญหาแต่มองมันว่าเป็นสิ่งท้าทายและโอกาส  สำหรับปัญหาสำคัญของจีนก็คือ ในด้านภาษาที่ส่วนใหญ่จะสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ลำบากเพราะมีส่วนน้อยที่พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นอุปสรรคของเราด้วย แต่ก็น่าจะดีกว่า เพราะคนไทยเราก็สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควรละ



ปัญหาเรื่องการควบคุมเวลาของการแข่งขันทีมฟอลย์ชายนี่ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง เพราะมันมักจะกินเวลามาก ยิ่งมีการใช้วิดิโอเลฟเฟอรี่มาใช้ด้วยแล้วจะทำให้การแข่งขันยิ่งยาวนานกว่าเดิมอีก ดังนั้นเราจะต้องควบคุมมันให้เริ่มต้นและจบลงในแต่ละคู่ตามเวลาที่กำหนดโดยไม่เกิดการล่าช้า โดยเฉพาะการรอการถ่ายทอดทีวีสดที่มีการกำหนดเวลาไว้ล่วงหน้าแล้ว เราจะต้องเริ่มถ่ายทอดมันให้ตรงเวลาให้ได้มิฉะนั้นแล้วมันจะเสียหายและดูว่าเราไม่เป็นมืออาชีพในการจัดการแข่งขัน



อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ การควบคุมไม่ให้ผู้ชมหรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในสนามการแข่งขัน ซึ่งในโอลิมปิคนั้นจะต้องให้การสนใจเป็นพิเศษ คนที่ไม่เกี่ยวข้องนั้นจะไม่มีสิทธิ์เข้าไปในสนามแข่งอย่างเด็ดขาด ดังนั้นในการแข่งขันฟันดาบคุณจะไม่มีทางได้เห็นเลยว่ามีผู้ชมกรูเข้าไปแสดงความยินดีกับนักกีฬาในสนามเมื่อเขาชนะ



เขากล่าวอีกว่าเทคนิคหนึ่งที่ช่วยขจัดปัญหาเรื่องความล่าช้าอันเนื่องมาจากอุปกรณ์ฟันดาบ โดยเฉพาะอุปกรณ์ฟันดาบไร้สายนั้น เขามักจะตรวจอุปกรณ์ต่างๆ ของนักดาบในห้อง Call Room ก่อนที่จะเข้าไปแข่งในสนาม หากมีปัญหาอะไรก็จะแก้ไขในช่วงนี้ได้ทันท่วงที และทำให้สามารถขจัดเวลาล่าช้าได้มากทีเดียว



เมื่อกล่าวถึงทีมช่วยในการจัดว่ามีใครบ้าง เขากล่าวว่ามีหลายส่วน แต่ส่วนที่สำคัญก็คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเวลา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Display หรือ จอแสดงภาพที่แสดงกำหนดการต่างๆ  ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอด ส่วนที่เกี่ยวข้องกับส่วนควบคุมคอมพิวเตอร์จัดการแข่งขัน  ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดสัญญาณต่างๆ  ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดง ส่วนที่แจกจ่ายข่าวสารไปยังที่ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ควรไม่ใช่หน้าที่ของดีที แต่ควรมีส่วนที่รับผิดชอบเรื่องการแจกจ่ายข่าวสารหรือรับข่าวสารจากดีทีไปทำเป็นการเฉพาะมิเช่นนั้นแล้วดีทีจะยุ่งยากมากทีเดียว ซึ่งแน่นอนส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงว่าข่าวสารต่างๆ มันจะต้องแจกจ่ายหรือรับมาได้ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ดีทีจะดูในภาพรวมว่าข่าวสารควรไหลลื่นอย่างถูกต้องเท่านั้นก็พอ 



เมื่อกล่าวถึงเรื่องการใช้กล้องแล้ว ในโอลิมปิคแค่สนามชิงมีการใช้วิดิโอ 16 ตัวในการจับภาพบนสนามชิง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องใช้เทคนิคที่ซับซ้อนทีเดียวและมันจะต้องทำงานอย่างถูกต้องด้วย  และอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงก็คือ จะต้องควบคุมให้คู่แข่งขันไปอยู่ในห้อง Call Room อย่างตรงเวลาก่อนลงแข่งขัน และเมื่อลงจากสนามแข่งจะต้องเข้าสู่ห้องถ่ายทอดเพื่อจะได้ให้โอกาสการทำข่าวได้ทันทีหลังจากแข่งขันเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดของประเทศไทยด้วยซึ่งจะบ่งบอกถึงว่าเราเป็นผู้จัดการแข่งขันอย่างมืออาชีพหรือไม่



อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับทีมดีที ก็คือ จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญกติกาของ FIE นั้นคือจะต้องรู้ซึ้งใน FIE Handbook Rule อย่างไรก็ตามผู้ตัดสินจะต้องมีความเชี่ยวชาญมากกว่าดีทีเสียอีกเพราะเขาจะต้องการตัดสินที่รวดเร็วกว่าดีที  เพราะว่าเขาอยู่ท่ามกลางผู้ชมและผู้แข่งขัน ในขณะที่ดีทียังพอมีเวลาคิดบ้าง 


เกี่ยวกับการให้ใบดำหรือ black card กับผู้ที่ขัดจังหวะในการแข่งขันนั้น ดีทีมีสิทธิอย่างไรในเรื่องนี้  อย่างแรกดีทีที่ดีก็ควรจะต้องตั้งมาตรฐานที่ชัดเจนว่ากติกาต่างๆ อะไรคือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และถ้าจำเป็นเขาจะให้ใบดำโดยไม่รีรอเลย นี่แหละที่ทำให้เขาไม่เคยให้ใบดำกับใครเลย เพราะเขามักจะชี้แจงมาตรฐานที่เข้มงวดอย่างชัดเจนต่อผู้นำทีมและกับตันทีมก่อนเสมอ และนี่แหละก็คือกลยุทธที่เขาใช้เสมอ คือ มาตรการป้องกันมากว่ามาตรการแก้ไข


อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องไฟใหม้อันเนื่องมาจากสายไฟช็อต ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจึงต้องเตรียมการทั้งป้องกันและแก้ไข