องค์ความรู้ > งานผู้จัดการแข่งขัน > การเป็น DT (The Directoire Technique) : ประชุมผู้จัดการทีม
การเป็น DT (The Directoire Technique) : ประชุมผู้จัดการทีม

สำหรับเรื่องการวางแผนนั้น ในภาพรวมก็คงเป็นไปตามที่เขียนไว้ในบทความที่ผ่านมา ที่เหลืออาจจะมีการวางแผนย่อยๆ ในแต่ละขั้นของงาน และที่สำคัญในแผนย่อยๆนี้ให้รวมถึงแผนเผชิญเหตุ เช่นเมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าเกิดดับจะทำอย่างไร เป็นต้น สำหรับงานแรกของ DT จริงๆ หลังจากการวางแผนคือ การประชุมผู้จัดการทีม ซึ่งถ้าเป็นการแข่งขันระดับเล็กๆ ที่มีรูปแบบการจัดเป็นมาตรฐาน การประชุมผู้จัดการทีมอาจไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็นการแข่งขันรายการใหญ่ๆ การประชุมผู้จัดการทีมถือเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นมาก เนื่องจะต้องมีการหารือ หาข้อตกลงในบางเรื่องให้ทุกทีมเห็นชอบ ในกรณีที่บางเรื่องอาจไม่สามารถปฏิบัติได้ในการแข่งขันครั้งนั้นๆ อาทิเช่น ในการแข่งขัน SEA GAMES ผู้จัดการทีมหลายชาติอาจขอให้ยกเว้นเรื่องการมีชื่อสกรีนที่เสื้อตามกฎ FIE เพราะประเทศเหล่านี้อาจยังไม่ร่ำรวยที่จะให้นักกีฬามีเสื้อเป็นส่วนตัว ซึ่งก็สามารถทำได้ถ้าเป็นข้อตกลงและส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบ



DT มีหน้าที่สำคัญคือทำให้การแข่งขันสำเร็จลุล่วงไปโดยราบรื่น เป็นไปตามกรอบมาตรฐานการแข่งขัน ทำให้การแข่งขันไหลลื่น และที่สำคัญต้องทำความชัดเจนให้เห็นในระบบแข่งขัน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการตกลงกันในที่ประชุมเสียตั้งแต่เริ่มแรก

 

ในการประชุมผู้จัดการทีมนั้นปกติจะแบ่งออกเป็นสี่วาระใหญ่ๆได้แก่

 

- วาระที่หนึ่งเจ้าภาพ หรือประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน จะกล่าวต้อนรับ และแนะนำกรรมการจัดการแข่งขัน ในนามเจ้าภาพ

 

- วาระที่สอง ประธานเทคนิค DT ชี้แจงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทั้งปวง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

 

- วาระที่สาม หัวหน้าผู้ตัดสินชี้แจงเรื่องกฏกติกา โดยเฉพาะกติกาที่มีการเปลี่ยนแปลง การตีความในกติกา

 

- วาระที่สี่ หัวหน้า SEMI ชี้แจงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตรวจอาวุธทั้งปวง ในวาระที่สามและสี่อาจรวมให้ประธานเทคนิค เป็นผู้ชี้แจงรวมก็ได้

 

หัวข้อเรื่องที่ DT ชี้แจงนั้นควรคลอบคลุมเรื่องต่อไปนี้


- แจ้งการลงทะเบียนผู้จัดการทีม ผู้จัดการทีมที่ไม่มาลงชื่อจะอ้างไม่ได้ว่าไม่รับรู้กับข้อตกลงที่ได้มีการประชุมในครั้งนี้

 

- การตรวจสอบรายชื่อนักกีฬาของทีม โดยผู้จัดการทีมลงชื่อรับรอง

 

- ตารางการแข่งขันโดยรวม เวลาเริ่มการแข่งขันในแต่ละวัน ตารางพิเศษที่อาจมีในบางวัน เช่นพิธีเปิด พิธีปิด การมอบรางวัลพิเศษประจำปี ฯลฯ

 

- การวางสนาม หมายเลขสนาม สถานที่แข่งขัน (กรณีมีหลาย Hall)

 

- สูตรการแข่งขัน ใช้สูตรแบบใด การตัดตัวนักดาบคิดกี่เปอร์เซ็นต์ของนักดาบ ถ้าการจัดเป็นสูตร Mix ให้ชี้แจงรูปแบบการวางมือ

 

- โปรแกรมที่ใช้ในการแข่งขัน เรื่องที่อาจจะเป็นปัญหา เช่นเรื่องของการจัดอันดับเมื่อจบรอบ Pool โปรแกรมจะทำการจัดอันดับให้โดยอัตโนมัติ เรื่องของการเสี่ยงทายที่กระทำโดยเครื่องตัดสิน ฯลฯ

 

- การตรวจสารกระตุ้น ใช้วิธีการเจาะจงอันดับในตรวจ หรือสุ่มตรวจ เวลา สถานที่ในการตรวจ

 

- เรื่องที่เน้นย้ำเป็นพิเศษ เช่นการตรงต่อเวลาในการไปรายงานตัวที่สนามแข่งขันแข่งขัน หรืออืนๆ

 

- ข้อตกลงอื่นๆที่เป็นการผ่อนผัน เช่นหน้ากากที่ใช้ในการแข่งขันฟอยล์ อาจยกเว้นไม่ใช้หน้ากากแบบใหม่ เนื่องจากไม่สามารถจัดหาได้ทัน สำหรับเรื่องที่เป็นข้อตกลงในการผ่อนผันนั้น ถ้าเป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่ FIE รับรองเป็น Ranking ไม่สามารถอนุโลมได้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนด แต่ถ้าเป็นการแข่งขันระดับ Zone หรืออื่นๆ ที่ไม่ได้เก็บคะแนนเป็น Ranking บางเรื่องอาจผ่อนผันได้ ถ้าผู้จัดการทีมทั้งหมดเห็นชอบ อย่างเช่นการสกรีนชื่อด้านหลังเสื้อ หรือเครื่องหมายแสดงสัญญลักษณ์ของชาติที่เสื้อและกางเกง เป็นต้น

 

- ตารางการฝึกซ้อม และการใช้สนามของแต่ละทีม รวมถึงตารางการเดินทางทั้งในห้วงระหว่างการฝึกซ้อมและในห้วงระหว่างการแข่งขัน

 

- การจัด Pool จำนวนนักดาบต่อ Pool เวลาเริ่มแข่ง Event แรก และโดยประมาณของ Event ที่สอง (ถ้าจัดแข่งมากกว่าสองประเภทดาบ/วัน) การประกาศ Pool การแข่งขัน แจ้งสถานที่ที่จะประกาศให้ทราบเป็นพิเศษ เช่นที่พักที่โรงแรมบริเวณหน้าลิฟท์ หรือที่สนามแข่งขัน หลังจากที่ประชุมเสร็จแล้วจะประกาศให้ทราบเมื่อใด เป็นต้น

 

- การสอบถามปัญหาข้อขัดข้องจากผู้จัดการทีมต่างๆ เช่นบางทีมอาจมีปัญหานักกีฬาบาดเจ็บไม่สามารถแข่งขันได้ รายชื่อตรวจสอบแล้วไม่ตรง

 

- การขอ DT เข้าร่วมในการเป็นคณะ DT ร่วม