องค์ความรู้ > บทความพิเศษ > จิตวิทยานักกีฬา
จิตวิทยานักกีฬา

จิตวิทยาการกีฬา เทคนิคการเอาชนะ นักกีฬาไทยยังไม่ (ค่อย) มี "คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดคงจะเป็นตัวเอง ถ้าจะแพ้ก็คงแพ้ภัยตัวเอง" นักแม่นปืนสาวทีมชาติไทยที่ชื่อ ธันยพร พฤกษากร เคยตอบ คำถามผู้สื่อข่าวไว้ก่อนเข้าร่วมแข่งขันกีฬา

 

นักกีฬาประเภทอื่นๆ ก็คงมีอาการไม่ต่าง กับนักแม่นปืนสาวผู้นี้นัก ยิ่งเป็นกีฬาประเภทที่ต้องเล่นคนเดียวและใช้สมาธิสูง หรือภาษาวงการกีฬาเรียกว่า "ไมด์ เกม" (mind game) แล้ว ยิ่งต้องได้รับการฝึกฝนให้ข้ามผ่านการแพ้ภัยตัวเองการฝึกฝนที่ว่านี้ จำเป็นต้องใช้ "จิตวิทยาการกีฬา" เข้ามาช่วย

 

"จิตวิทยาการกีฬา" เป็นศาสตร์ หรือสาขาของวิทยาศาสตร์การกีฬาอีกแขนงหนึ่ง เป็นการศึกษาถึงกระบวนการทางจิตใจ ความคิด อารมณ์ ที่สัมพันธ์กับความสามารถในการเล่น และการแข่งขันกีฬาของนักกีฬา โดยที่ความรู้สึกนึกคิดภายในของนักกีฬาแต่ละคนนั้น จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมต่างๆ ทั้งที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ เช่น ความก้าวร้าว ความไม่มีน้ำใจนักกีฬา

 

 

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของความเครียด วิตกกังวล ความกลัว ความตื่นเต้น เป็นต้น ที่เป็นความผิดปกติ อันเนื่องมาจากความรู้สึกภายในที่แสดงออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่า มีผลกระทบต่อจิตใจของนักกีฬาโดยตรง และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงความสามารถของนักกีฬาด้วยจิตวิทยาการกีฬาจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือ ความบกพร่อง ตรงนี้

 

"จิตวิทยา" ถูกนำมาใช้กับนักกีฬาไทยหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าเพิ่งจะได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังในกีฬาโอลิมปิค ปี พ.ศ.2551 นี่เอง

 

"เคยได้ยินคำว่า หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม ไหมครับ" เสียง ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ หรือครูเบิ้ม เอ่ยถามขึ้น ดร.พิชิต หรือครูเบิ้ม ชายวัย 46 เป็นหนึ่งในทีมจิตวิทยาที่เข้ามาช่วยดูแลนักกีฬาไทยชุดโอลิมปิคเกมส์ 2008 ซึ่งมีประสบการณ์คลุกคลี กับนักกีฬาระดับชาติมาหลายประเภทครูเบิ้มบอกว่า คำพูดข้างบนนั้น เป็นเรื่องจริงของนักกีฬาบ้านเราเพราะจิตใจของนักกีฬายังฝึกฝนไม่มากพอ เมื่อลงสนามแข่งจริงความตื่นเต้น แรงเชียร์ ความคาดหวัง รางวัลล่อใจ กดดันก่อร่างเป็น "ความเครียด" เมื่อถึงเวลาแข่งจริง จึงทำผลงานได้ไม่ได้ดีเท่าซ้อม

 

ปัจจุบันนอกจากจะทำหน้าที่ดูแลนักกีฬาทีมชาติแล้ว ครูเบิ้มยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.องครักษ์ จ.นครนายก และทำการสอนทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก พิชิต เมืองนาโพธิ์ ครูเบิ้มเองจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จิตวิทยาการกีฬา จาก Victoria University of Technology ประเทศออสเตรเลีย

 

จิตวิทยาการกีฬานี้ ต่างประเทศนำมาใช้กับนักกีฬานานแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่ค่อยเข้าใจว่าสำคัญ ปัจจุบันจึงมีคนจบทางด้านนี้ในระดับปริญญาเอกเพียง 3 คนเท่านั้น คือ ดร.สืบสาย บุญวีระบุตร ดร.นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร และ ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์

 

ครูเบิ้มอธิบายว่า การที่จะเล่นกีฬาได้เต็มที่ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วนใหญ่นอกเหนือจากฝีมือความสามารถมีทักษะแล้ว ร่างกายต้องพร้อม กล้ามเนื้อดี และจิตใจพร้อม

 

สรุปง่ายๆ คือ นักกีฬาต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความวิตกกังวลน้อย มีสมาธิดี และมีความมุ่งมั่นการแข่งขันกีฬาเรื่องของ "จิตใจ" เป็นเรื่องสำคัญ ดูได้จากนักกีฬาระดับโลกหลายคนที่ใช้สมาธิควบคู่ไปกับเกมกีฬา ตัวอย่างชัดๆ คือ "วีเจย์ ซิงห์" โปรกอล์ฟระดับโลกมาเรียนนั่งสมาธิกับหลวงพ่อสิงห์ วัดไผ่เหลือง สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก"ว่าไปแล้วฝีมือนักกอล์ฟไทยถึงระดับโลก สู้เขาได้สบาย จะเห็นว่าลงสนามเล่นวันสองวันแรกไม่กดดัน เล่นตามฟอร์มของตัวเอง แต่พอหนังสือพิมพ์เริ่มลงข่าวว่าตีดี เริ่มมีชื่อเสียง คนเริ่มคาดหมาย จิตใจก็กดดันแล้ว ทุกอย่างเสียหมดเลย เล่นไม่ได้ นี่คือ ข้อเสียของนักกอล์ฟไทย"

 

ดังนั้น หน้าที่ของจิตวิทยาการกีฬา คือทำอย่างไรเขาถึงจะนิ่ง ผ่อนคลาย ทำอย่างไรถึงจะเชื่อมั่นในตัวเองตลอดเวลา

 

จิตวิทยาการกีฬาสามารถนำมาใช้กับกีฬาทุกชนิด โดยเฉพาะกีฬาที่พูดกันว่าเป็นไมด์ เกม อย่าง กอล์ฟ เทนนิส โบว์ลิ่ง สนุกเกอร์ ถ้าจิตใจสั่น มือก็สั่นตาม หรือแม้แต่ กีฬายกน้ำหนัก ฟันดาบครูเบิ้มบอกว่า การเปล่งเสียง "สู้โว้ย" สะท้านวงการยกน้ำหนัก ของ อุดมพร พลศักดิ์ เมื่อโอลิมปิคคราวก่อน 

เป็นอีกหนึ่งเทคนิคของจิตวิทยาการกีฬา ที่ ดร.สืบสาย บุญวีระบุตร เป็นผู้สอน เทคนิคนี้เรียกว่า "เซลฟ์ ทอลค์" (self talk) คือ การพูด เพื่อกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ "อารมณ์ที่เหมาะสมในการยกน้ำหนัก คือ ฮึกเหิม และเฉียบคม ดังนั้นเราต้องหัดให้เขานึกถึงอารมณ์ที่ฮึกเหิม และเฉียบคม ขณะที่เปล่งเสียงออกมา"ครูเบิ้ม อธิบายถึงหลักจิตวิทยาในสมัยโบราณเปรียบเทียบ ว่าสมัยโบราณเขาเอาหมามาตัวหนึ่ง แล้วเอาอาหารมาให้พร้อมกับสั่นกระดิ่ง แล้วให้วัดน้ำลายหมา ทีนี้พอหมาจะกินอาหารก็จะสั่นกระดิ่งทุกวันเลย ในสมองของหมาอาหาร กับเสียงกระดิ่งจะมาด้วยกัน มีวันหนึ่งไม่ให้อาหารแต่สั่นกระดิ่งอย่างเดียว หมาก็น้ำลายไหลเหมือนกับตอนที่เอาอาหารมานักกีฬาก็เหมือนกัน คือการสร้างอารมณ์ต้องให้มาพร้อม กับคำพูด ต่อไปเมื่อพูดปุ๊บอารมณ์ก็เกิดปั๊บ นี่เป็นเทคนิคหนึ่งในพันๆ เทคนิค

 

สำหรับ "กีฬาตะกร้อ" ครูเบิ้มเล่าว่า สมัยที่ สืบศักดิ์ ผันสืบ เป็นตัวเสิร์ฟ เขาเป็นตัวสำคัญมากที่จะต้องเสิร์ฟให้นิ่ง เพราะว่าคู่แข่งขันคือ มาเลเซีย ถ้าเราเสิร์ฟดีเราจะสู้เขาได้ง่าย แต่ถ้าเสิร์ฟไม่นิ่งก็จะมีปัญหากับทีม ทีนี้พอคะแนนสูสีกัน เขาจะเครียดไม่ค่อยผ่อนคลาย จะเสิร์ฟดีบ้างเสียบ้าง เราก็ใช้ระยะเวลาเกือบหนึ่งปี กว่าจะฝึกให้เขาผ่อนคลายได้ "ตอนเอเชียนเกมส์ปี 1998 สืบศักดิ์ เสิร์ฟไม่พลาดเลย เขาบอกว่า พอผ่อนคลายเขาก็เสิร์ฟได้ตามธรรมชาติ นี่คือ วิธีที่เราฝึก"จิตวิทยาสามารถพลิกสถานการณ์เลวร้ายให้กลายเป็นดีแบบในหนังได้ ครูเบิ้มว่าอย่างนั้น แต่มีเงื่อนไขว่า"หากนักกีฬาคนนั้น ถูกฝึกมาประมาณปีหนึ่ง ฝึกมาจนรู้ว่าให้ผ่อนคลายก็ผ่อนคลายได้ ให้หยุดคิดก็หยุดคิดได้ แต่ถ้าเขาไม่เคยฝึกอะไรมาเลย แล้วนักจิตวิทยาไปพูดคำสองคำให้เขาพลิกกลับมานั้น มันโอเว่อร์ไป ไม่มีทาง"

 

ส่วน "กีฬามวย" ซึ่งเป็นกีฬาที่ครูเบิ้มได้รับมอบหมายให้ดูแลในการแข่งโอลิมปิคครั้งนี้ ครูเบิ้มเล่าว่า นักมวยเวลาเครียด มือ แขน จะเกร็ง หมัดที่จะออกไปก็ช้าลง คู่ต่อสู้ก็ตอบโต้ได้มากขึ้น การเต้นฟุตเวิร์กก็เงอะๆ งะๆ ยิ่งถ้าตอนนั้นนักกีฬาคิดในแง่ลบ เช่น คิดว่าวันนี้จะสู้เขาได้ไหม ก็จะทำให้เกิด

ความลังเล พอลังเลก็มัวแต่คิดว่าจะสู้ได้หรือเปล่า มันก็แสดงความสามารถออกมาไม่ได้แต่คนเราเมื่อปล่อยสบายๆ ก็จะแสดงความสามารถออกมาสูง หรือบางคนมีวิธีคิดในแง่ลบ เราต้องสอนวิธีคิดในแง่บวก จนกระทั่งเป็นนิสัยฝังลงไปในจิตใต้สำนึก"กีฬามวย ถือเป็นกีฬาที่กดดันสูง เพราะเป็นกีฬาที่เหนื่อย เจ็บ และหิว และถ้าต้องเหนื่อย เจ็บ หิวทุกวันจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เราต้องช่วยเขาคลายความเครียด ตั้งแต่แรก โดยตั้งเป้าหมายให้เขาเห็น สิ่งที่เขาต้องเดินไป เป็นอย่างไร ทำให้เขาผ่อนคลาย สบายใจ"

 

"ถ้านักมวยบอกว่า ตัวเองชอบนอนเล่นที่ทะเล พอซ้อมเสร็จเราก็จะสะกดจิต ให้เขาอยู่ชายทะเลทุกวันเลย เหมือนกับว่าจิตใต้สำนึกเขาจะไปอยู่ชายทะเล และพอถึงเวลาแข่งเขาจะตั้งใจมาก เครียดอีก เกิดอาการเกร็งล็อค เราก็สอนให้เขาผ่อนคลายก่อนขึ้นชก หรือคิดให้ดีก่อนขึ้นชก ต้องฝึกทุกวันจนกระทั่งเขาสามารถทำได้เป๊ะๆ ตามนี้" คือเทคนิคของครูเบิ้มฟังดูแล้วจะเห็นว่า จิตวิทยาการกีฬาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้ เรียกว่าถ้าขาดไปก็สู้ใครไม่ได้ เพราะมันเป็นวิทยาการชุดหลังสุด "ตอนนี้ ทุกคนมีร่างกายเหมือนกัน มีทักษะคล้ายคลึงกัน นักกีฬาไทยไม่ด้อยกว่าใครในโลกนี้ แต่จิตใจเรายังสู้เขาไม่ได้"

 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องพยายามทำต่อไป สำหรับนักกีฬาไทย คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้นักกีฬาเล่นได้เต็มความสามารถ "การเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า คือ เปลี่ยนทัศนคติของนักกีฬา ที่มุ่งเอาชนะอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เขาเครียด เราก็เปลี่ยนใหม่ อย่างเช่น เปลี่ยนจุดมุ่งหมายใหม่ว่าการขึ้นไปชกวันนี้ ให้ไปแสดงความสามารถสูงสุดที่เรียกว่าพีค เพอร์ฟอร์แมนซ์ (peak performance) ไม่ได้คิดแต่ เรื่องชนะอย่างเดียว"

 

ความสามารถสูงสุด ก็คือ การชกอย่างพลิ้ว ลื่นไหล สวยงาม ดูตัวอย่างได้จาก โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์โลกคนแรกของไทยที่ชกได้ลื่นไหลสวยงาม"การปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักกีฬาไทย เป็นเรื่องยาก เพราะการชนะโอลิมปิคคือ การได้ 30 ล้านบาท ซึ่งบางที นักมวยไม่ต้องการแสดงความสามารถสูงสุด แต่ต้องการ 30 ล้านมากกว่า 

 

สังคมกีฬาไทยเราสอนแต่ว่าความสำเร็จคือ ชัยชนะ คือ ผล ไม่ได้พูดถึงว่าความสำเร็จคือ ความสามารถ หรือความพยายาม 

 

ยิ่งระยะหลังๆ มานี้มีสังคมธุรกิจ สังคมบันเทิงเข้ามา คนก็เห็นแต่ผล กลายเป็นว่าเราชนะแต่การเล่นไม่ได้เรื่อง ทั้งที่ศักดิ์ศรีความเป็นนักกีฬา ที่แท้จริง มันสำคัญกว่าอย่างอื่น"ดอกเตอร์จิตวิทยาการกีฬา ส่งเสียงเตือนเบา เบา

 

 

 

โดย ชมพูนุท นำภา

ที่มา มติชน

จำรัส