

หลังจากที่รู้ระดับการแข่งขัน
สิ่งสำคัญต่อมาคือการวางแผน สำหรับ DT ที่มีประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว
สามารถมองเห็นภาพการแข่งขันได้ทะลุปรุโปร่ง อาจจะใช้เวลาในการวางแผน
แนวทางที่จะทำให้การแข่งขันราบรื่น โดยใช้เวลาไม่มากนัก แต่สำหรับ DT มือใหม่นั้น คงต้องวางแผนกันมากพอสมควร แล้วก็ไม่มีตำราให้หาอ่าน
ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในกติกา Book II ของ FIE และเอกสารทางเทคนิคเพิ่มเติมการจัดการแข่งขันระดับต่างๆที่จัดทำขึ้นโดยฝ่ายเทคนิคของ
FIE ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพื้นฐาน
เรื่องพิเศษที่เป็นแทคติกเพื่อใช้ในการบริหารไม่มีบอกไว้
เรื่องแรกสุดที่ต้องคิดถึงเมื่อต้องรับงานเป็น
DT
คือ การหาทีมงานที่จะเข้ามาร่วมงาน
โดยเฉพาะทีมเทคนิคที่จะใช้โปรแกรมบริหารจัดการแข่งขัน
เพราะทีมนี้คือหัวใจของความสำเร็จ ทีมดังกล่าวต้องเชี่ยวชาญการใช้โปรแกรม Engrade
ของ FIE ความหมายของคำว่าเชี่ยวชาญของผมคือต้องสามารถแก้ปัญหาต่างๆตอบสนองปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน
โปรแกรม Engrade นั้นจะทำงานเป็นขั้นตอน
ถ้าทีมงานไม่มีประสบการณ์จะเสียเวลาในการแก้ปัญหามาก ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเราวางแผนแข่งขันใน Pool ให้มีนักดาบลงแข่ง 5คน ปรากฎว่านักดาบมารายงานตัวที่ Pool แค่ 4 คน Pool นั้นก็จะแข่งไม่ได้ เป็นต้น
จะแก้ปัญหาอย่างไร ปัญหาในระหว่างการแข่งขันนั้นมีมากมายที่จะให้ DT เป็นผู้แก้ไข
และถ้ามีมาอย่างหนึ่งก็มักจะมีเรื่องอื่นๆตามมาจนบางครั้งถึงขั้นวงแตก
เวลาก็บีบรัด จนผู้ที่เป็น DT มือใหม่สติแตกไปเลยครับ
DT ต้องมีความรู้เรื่องการแข่งขันเป็นอย่างดี
ต้องรู้ว่าการแข่งขันในครั้งนี้เป็นการแข่งขันแบบไหน ใช้สูตรอะไรในการแข่งขัน
เพื่อที่คุณจะได้วางแผนงานคร่าวๆในใจ
และแผนการคร่าวๆนี้จะถูกปรับปรุงนำไปใช้ในสองที่ ในตอนเริ่มต้นก่อนการแข่งขัน
ที่แรกคือใช้เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อของการประชุมผู้จัดการทีมและการประชุมผู้ตัดสิน
อีกที่หนึ่งคือใช้ในการวางแผนร่วมกับทีมเทคนิคโปรแกรม
ปกติทีมเทคนิคโปรแกรมที่รู้งานจะจัดนักดาบตามรายชื่อ ตามประเภทดาบ พร้อม Ranking
และอาจให้คำแนะนำเรื่องการจัด Pool ได้ด้วย
แต่ถ้าทีมเทคนิคโปรแกรมไม่เก่งหรือไม่มีประสบกาณ์ DT ก็ต้องวางแผนทั้งหมด
แต่ถึงอย่างไรก็ตามในท้ายที่สุด DT จะต้องมีความรู้เพียงพอที่จะตรวจสอบ
และตัดสินใจว่าควรจะจัดการแข่งขันอย่างไร
การตรวจสอบนั้นต้องกระทำทุกจุดตั้งแต่รายชื่อนักดาบที่ถูกวางใน Pool ถูกต้องหรือไม่ ตาม Ranking ตามชมรม จำนวนนักดาบใน Pool
ฯลฯ นอกจากนี้ยังต้องวางแผนเรื่องเวลา
กับสนามแข่งขันที่วางสำหรับจัดแข่ง
เพราะบางครั้งสถานที่บีบบังคับให้วางสนามได้จำกัด
สนามแข่งขันนั้นมีความสำคัญมีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระบบการแข่งขัน
ซึ่งผมจะกล่าวถึงต่อไปภายหลัง
การวางแผนที่ดี
หมายถึงว่าความสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับเกินครึ่งหนึ่งแล้ว การที่จะวางแผนได้ดีนั้น
ส่วนหนึ่งคือการจัดประชุมทีมงานทุกส่วนหรือแยกส่วนบ่อยๆ ชี้แจงงาน
หรือรับฟังปัญหา ถ้า DT เก่งทีมงานก็จะเชื่อมั่น
แผนงานนั้นต้องเป็นไปตามระบบตามที่วางไว้ DT เก่งๆเขาจะรู้ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง
และจะเกิดขึ้นตอนไหน และได้วางแผนเตรียมการแก้ปัญหาไว้ในใจเรียบร้อย ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือตอนเริ่มจัดการแข่งขัน
โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันในบ้านเรา มักจะไม่สามารถทำได้ตามเวลา
สำหรับวันนี้ขอจบลงเพียงเท่านี้ก่อนครับ
ครั้งหน้าจะต่อเรื่องการวางแผนและแนวคิดเพิ่มเติมครับ