งานผู้ตัดสิน > สิทธิการเข้าทำวิจารณ์โดย William M. Gaugler
สิทธิการเข้าทำวิจารณ์โดย William M. Gaugler

ซึ่งเขาเป็นผู้อำนวยการโครงการผลิตปรมาจารย์ดาบของมหาวิทยาลัยซานโฮเซ่ในสหรัฐฯ  เขาได้วิจารณ์สิทธิการเข้าทำของดาบเซเบอร์ไว้อย่างน่าสนใจในบทความของเขา ที่เขียนลงในนิตยสาร American Fencing, July / August, Volume 37, Number 6 ไว้อย่างน่าสนใจว่า การตีความในกติกาที่กำหนดไว้ใน FIE ใน Article 10 ระบุว่า "the attack is the initial offensive action made by extending the arm and continuously threatening the opponent?s target."   ซึ่งมีหลายท่านตีความว่า ผู้เข้าทำนั้นจะต้องริเริ่มเชิงรุกด้วยการยืดแขน และ ทำการคุกคามเป้าฝ่ายตรงข้ามโดยต่อเนื่อง   ประเด็นปัญหาที่เขายกขึ้นมาก็คือ การยืดแขนนั้น หมายถึงกำลังยืด หรือว่า ได้ยืดออกไปแล้วถึงจะถือได้ว่าผู้นั้นเป็นผู้เข้าทำ  โดยเขาให้ข้อสังเกตุว่า หากตีความว่าแขนกำลังยืดมากกว่าจะตีความว่าแขนต้องยืดเรียบร้อยแล้วเป็นผู้ได้สิทธิการเข้าทำแล้วละก็ การตีความเช่นนี้จะทำลายลักษณะความเป็นเหตุผลของการฟันดาบโดยสิ้นเชิง จะทำให้การฟันดาบเหมือนกับการเสี่ยงโชค เขาจึงขอให้การตีความของ FIE เป็นไปอย่างมีเหตุมีผล (กล่าวคือ เขาเห็นว่าแขนควรจะยืดออกไปเรียบร้อยแล้วจึงถือว่าเป็นผู้ได้รับสิทธิการเข้าทำ)  ทั้งนี้เขาได้ให้ความเห็นว่า เขาเสียใจที่เห็นกรรมการผู้ตัดสินจำนวนมากได้ให้สิทธิกับนักดาบฟอลย์ที่ดึงมือกลับก่อนที่จะแทง  หรือ ให้สิทธิเข้าทำให้กับนักดาบเซเบอร์ที่หักข้อมือสับไกก่อนที่จะลงดาบ เพราะเขาเห็นว่านักดาบพวกนี้กระทำสองจังหวะ  เพราะหากกรรมการผู้ตัดสินมีความเข้าใจถึง Fencing Time แล้วเขาจะไม่มีทางให้สิทธิกับนักดาบที่กระทำแบบนั้นโดยเด็ดขาด  (ใน Article 9 ระบุว่า  "the time required to perform one simple fencing action- คือเวลาที่ใช้ในการฟันเพียงจังหวะเดียว" ) ซึ่งหากมองในแง่ของการ Counter Attack หรือ การโต้การเข้าทำ หรือที่เรามักเรียกว่า การชิงจังหวะเข้าทำแล้ว นักดาบที่ใช้สองจังหวะเข้าทำในลักษณะนี้ จะเสียสิทธิให้กับผู้ที่ชิงจังหวะเข้าทำ แต่ถ้ากรรมการผู้ตัดสินไม่เข้าใจก็จะไม่ให้แต้มกับผู้ชิงจังหวะเข้าทำเลย  แม้ว่านักดาบที่ชิงจังหวะเข้าทำได้อย่างถูกต้องแต่กลับไม่ได้แต้ม นักดาบผู้นั้นก็จะต้องเลิกการชิงจังหวะโดยปริยาย เพราะทำไปนอกจากจะไม่ได้แต้มแล้ว กลับจะเสียแต้มอีกโดยเฉพาะเมื่อไฟตัดสินเกิดขึ้นทั้งสองฝั่ง  แล้วทั้งคู่ก็จะหันมาเน้นการเข้าทำเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการฟันดาบที่ไร้รสชาติมากเพราะไม่มีเทคนิคอื่นเลย (เรื่องนี้ท่านคงเห็นกันบ่อย โดยเฉพาะกรรมการผู้ตัดสินที่แยกไม่ออกว่าอะไรคือการกระทำสองจังหวะ)  นี่แหละคือเหตุผลสำคัญที่เขาเห็นว่า การเข้าทำที่กรรมการผู้ตัดสินควรจะให้สิทธิก่อนคือ การเข้าทำที่ต้องเหยียดแขนไปแล้วเท่านั้น เพราะมันจะตัดปัญหาในความไม่ชัดเจนออกไปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ FIE ดู เหมือนว่าจะตั้งใจใช้คำว่า Extending the arm ซึ่งถ้าแปลตรงไปตรงมาแล้วก็หมายความชัดเจนว่า กำลังยืดแขน ไม่ได้หมายความว่า แขนได้ยืดไปแล้ว  พูดง่ายๆ ก็คือ แขนกำลังยืดออกห่างจากตัวผู้เข้าทำและปลายดาบต้องคุกคามเป้าจะถือว่าได้สิทธิเป็นผู้เข้าทำ (อันนี้สามารถหาอ่านได้ในกติกาของสมาคมฟันดาบ)