งานผู้ฝึกสอน > การวิเคราะห์ยุทธวิธีดาบในโอลิมปิคที่ กรุงปักกิ่ง ปี 2008
การวิเคราะห์ยุทธวิธีดาบในโอลิมปิคที่ กรุงปักกิ่ง ปี 2008

          ผมไม่ได้เป็นโค้ช แต่ผมอยากเห็นวงการโค้ชฟันดาบของบ้านเราก้าวหน้าเพื่อให้โค้ชฟันดาบของเราสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ คู่แข่งของเราไม่ใช่โค้ชในบ้านเราด้วยกันเอง แต่เราจะต้องแข่งขันกับต่างประเทศ นั่นแหละคือเป้าหมาย  ผมได้รับอีเมล์จาก คุณ พีรภา  แหเกิด ผู้ปกครอง ซึ่งท่านได้ให้ความสนใจในพัฒนาโค้ชเป็นอย่างมาก และได้แนะนำว่า โค้ชที่มีอยู่ในเมืองไทยน่าจะรวมตัวกัน เพื่อช่วยหาวิธีการว่าเราจะพัฒนาโค้ชฟันดาบในบ้านเราให้ยกระดับสูงทัดเทียมกับมาตรฐานระดับโลกได้อย่างไร แม้ว่าคุณ พีรภาฯ จะไม่ได้เป็นโค้ช แต่ก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า นักกีฬาจะพัฒนาไปไม่ได้เลยถ้าขาดโค้ชที่มีคุณภาพ เพราะการพัฒนานักกีฬาความสามารถสูงนั้น ต้องขับเคลื่อนโดยโค้ช  ไม่ใช่ขับเคลื่อนโดยผู้บริหาร หรือ ผู้จัดการทีม แต่ต้องขับเคลื่อนโดยโค้ช ส่วนคนอื่นๆ ก็เพียงแต่เป็นผู้สนับสนุน ช่วยเหลือเท่านั้น  นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมพยายามหาบทความที่ดีๆ มาตั้งเป็นประเด็นปัญหาบ้าง เพื่อให้โค้ชของเราหันมาถกแถลงกัน ถึงแม้ว่าโค้ชแต่ละค่ายจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไป เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่  ประเด็นหลักก็คือ การศึกษายุคใหม่เขาเรียนรู้จากความแตกต่าง เขาเรียนรู้จากการถกแถลงหาเหตุและผล หรือที่เรียกว่าเรียนแบบ โซเครติส นั่นคือตั้งปัญหา แล้วถกแถลงหาเหตุและผล ซึ่งวิธีการเรียนแบบนี้จะเห็นว่านักเรียนกับครู สามารถถกแถลงหาเหตุและผลร่วมกัน หาสาเหตุแห่งปัญหา และหาแนวทางแก้ไข ซึ่งวิธีการเช่นนี้พิสูจน์ว่าเป็นการเรียนที่ได้ผลดีที่สุดตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน  แม้ในวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐฯ ก็ได้ใช้วิธีการนี้สอนกัน หากท่านได้ไปเห็นเขาเรียนแล้วท่านจะงง เพราะว่า ไม่มีการสอนในห้องเรียนเสียด้วยซ้ำ แต่เขาจะให้นักศึกษาไปอ่านเอง พร้อมกับประเด็นปัญหาที่นักศึกษาจะต้องค้นคว้าแล้วนำมาถกแถลงในห้องสัมมนา เชื่อไหมว่าการเรียนแบบนี้แม้ครูก็เรียนจากนักศึกษา นักศึกษาก็เรียนจากครูในห้องสัมมนา ครูเพียงแต่แนะนำและตั้งประเด็นวิเคราะห์นิดหน่อยเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นการถกแถลงกัน  วิธีการเรียนอย่างนี้เขาเรียกว่า การเรียนแบบ Critical Thinking ซึ่งนักเรียนจะรู้จักวิธีคิด วิธีวิเคราะห์ และสังเคราะห์   และเขาก็ไม่ถือว่า ใครผิดใครถูก แต่เขาต้องการให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  หากเราต้องการไปอยู่ข้างหน้า เราต้องมีเทคนิคของตนเอง แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะคิดเองทั้งหมด เพียงเราใช้เหตุใช้ผลพิจารณา แล้วก็ลองนำไปทดสอบดูในสนามประลอง สนามประลองนี่แหละคือห้องแล็บของเรา ทำอย่างนี้วงการฟันดาบของเราก็จะไม่หยุดนิ่งมีการพัฒนารูปแบบเป็นของตน แต่ตอนนี้การฟันดาบของเรายังไม่แข็งพอก็จะต้องเดินตามเขาไปก่อน เมื่อไรที่นักดาบและโค้ชของเราถึงขั้นคิดเทคนิคและยุทธวิธีเองเมื่อนั้น เราไปอยู่ข้างหน้าแน่นอนครับ ตัวอย่างเช่น การแข่งขันการฟันดาบระหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลีมีมานานแล้วตั่งแต่ศตวรรษที่ 15  การแข่งขันกันนี้ก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบอาวุธและเทคนิคการฟันดาบในยุโรปอย่างต่อเนื่อง

 

          เอาละที่ผมกล่าวมาก็เพื่อให้เข้าใจว่าที่ผมต้องหาบทความวิเคราะห์มาแปลให้พวกเราอ่านกันก็เพราะอยากให้พวกเราวิเคราะห์และถกแถลงกัน หากเห็นว่าดีก็ลองนำไปทดลองดู แต่หากเห็นว่าไม่ดีไม่ถูกต้องก็สามารถส่งอีเมล์มาโต้แย้งให้เหตุผลกันหน่อยว่าทำไมจึงเห็นว่าวิธีการวิเคราะห์หรือวิธีการฝึกของเขาไม่ถูกต้อง เพราะเราจะสามารถเรียนรู้ได้ดีจากความเห็นที่แตกต่างกันนั่นแหละ ทีนี้เรามาดูการวิเคราะห์ยุทธวิธีดาบของโค้ชแคนาดา ชื่อ Ildemaro Sanchez, Jean-Marie Banos และ Gabor Salamon ในการวิเคราะห์ยุทธวิธีดาบที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิคปี 2008 ที่นครปักกิ่ง กันดูซิว่าเขาวิเคราะห์ได้น่าฟังเพียงใด แล้วโค้ชของเราสามารถวิเคราะห์ได้เช่นเขาหรือไม่?

 

 

          เขาตั้งปัญหาว่า องค์ประกอบแห่งความสำเร็จในการได้แต้มของการฟันดาบนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง หากเราสามารถทราบถึงองค์ประกอบเหล่านี้ เราก็ย่อมสร้างแบบฝึกเพื่อให้สามารถสร้างองค์ประกอบเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในขณะแข่งขัน นี่ก็จะเพิ่มโอกาสให้นักดาบของเราประสบความสำเร็จในการทำแต้มได้ องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในการได้แต้มมี 6 องค์ประกอบคือ

 

1. วิธีการเลือกกระทำ (logical Choice of an action) การเลือกว่าจะทำอะไรในการแข่งขันถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ และการที่จะเลือกว่าจะทำอะไรในการแข่งขันนั้นขึ้นอยู่กับ (1) การตอบสนองของนักดาบฝ่ายตรงข้ามที่ได้กระทำในยกก่อน ซึ่งจะทำการประเมินทันทีเมื่อสิ้นสุดยก (2) กลยุทธที่ได้ตระเตรียมไว้แล้ว สำหรับในดาบเซเบอร์จากสถิติพบว่าหลังจากคำสั่งให้เริ่มเล่น ผู้แข่งขันจะแลกการกระทำฟันดาบภายในเวลาเพียง 2-6 วินาทีเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลว่าการเลือกกระทำของนักดาบเซเบอร์ว่าจะเลือกทำอะไรนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของคู่แข่งในยกก่อน ในขณะที่ดาบเอเป้และฟอยล์ นักดาบจะแลกเปลี่ยนการกระทำฟันดาบโดยเฉลี่ยภายหลังเวลาผ่านไป 20-60 วินาที ดังนั้นการเลือกว่าจะทำอะไรของดาบเอเป้และฟอลย์นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันในยกนั้น  

 

2. ความพร้อมเพรียงทางเทคนิค (Technical Coordination) หมายถึงความสามารถใช้เทคนิคดาบที่ถูกต้องเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้แต้มให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามการได้แต้มนั้นยังขึ้นอยู่กับระยะที่ถูกต้อง เวลา จังหวะ และ สิทธิด้วย ดังนั้น องค์ประกอบทางเทคนิคจะต้องพร้อมเพรียงไปกับองค์ประกอบอื่นๆ จึงจะทำให้การกระทำของนักดาบประสบความสำเร็จ ดังนั้นเพียงแค่ใช้เทคนิคดาบที่ถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้

 

3. ระยะ (Distance) การกระทำฟันดาบจะประสบความสำเร็จได้ยังขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างคู่แข่งขัน ดังนั้นคู่แข่งทั้งสองฝ่ายจึงต้องเล่นกับเกมส์ทางระยะที่เหมาะสมของตนด้วย เขาจะต้องเล่นกับระยะจนกว่าจะได้ระยะที่เหมาะสมจึงจะตัดสินใจกระทำตามกลยุทธ์ที่กำหนด

 

4. เวลา (Timing) เวลามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับระยะ  นักดาบจะต้องกระทำในเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสม นักดาบที่แม้จะรวดเร็วแต่กระทำในเวลาที่ไม่ถูกต้องก็ไม่อาจจะได้แต้ม

 

5. จังหวะ (Rhythm)  จังหวะหมายถึงความเปลี่ยนแปลง ระหว่างการเตรียมการ กับ การกระทำจริง  เช่น ขณะเข้าทำจะช้า แต่พอทำจริงเร็วมาก (Slow-Fast) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการกระทำจะเร็วหรือช้านี่แหละคือการกำหนดจังหวะของการฟันดาบ

 

6. การตัดสินใจ (Authority) มันหมายถึง การตัดสินใจในการกระทำว่าจะทำเมื่อใดและเร็วเท่าใด  การตัดสินใจนี้จะเป็นองค์ประกอบที่เชื่อมโยงองค์ประกอบอื่นๆ เข้าด้วยกัน จะเป็นการวัดความสามารถในการตัดสินใจของนักดาบผู้นั้น และการตัดสินใจนี้จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ซึ่งในการเล่นดาบนั้นเร็วมาก การคิดคำนวณต่างๆ ขององค์ประกอบที่ได้กล่าวมาแล้วจะต้องเป็นไปอย่างอัตโนมัติ และการตัดสินใจถือเป็นองค์ประกอบสุดท้ายที่จะเป็นต้ววัดว่าสิ่งที่ได้คำนวณนั้นเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่

 

ดังนั้นเพื่อให้การวัดขีดความสามารถของนักดาบว่าพร้อมที่จะลงแข่งขันมากเพียงใด และยังจะต้องปรับปรุงอะไร โค้ชในขณะฝึกซ้อมจะต้องตรวจสอบให้ได้ว่า องค์ประกอบทั้ง 6 ของนักดาบนั้นสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่ และนักดาบผู้นั้นยังขาดอะไร