งานผู้ฝึกสอน > ผู้ฝึกสอนนั้นสำคัญไฉน
ผู้ฝึกสอนนั้นสำคัญไฉน

ผู้ฝึกสอนนั้นสำคัญไฉน ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้นักดาบโดยทั่วไปทั้งใหม่และเก่า ได้มีมุมมองมากขึ้นตามที่ผมจะกล่าวต่อไป

 

นักกีฬาจะไม่พัฒนาได้เลยโดยไม่มีผู้ฝึกสอน เพราะอะไร ด้วยนักกีฬาจะไม่รู้ว่าตัวเองต้องพัฒนาอะไรและพัฒนาอย่างไร ในมุมมองของนักกีฬาจะมองในมุมด้านเดียว คือกับคู่ต่อสู้ แต่ช่วงจังหวะเวลาที่ตนแสดงท่าออกมาให้กรรมการเห็นนั้นมันขัดแย้งกับมุมมองที่กรรมการเห็น ต้องจำอย่างหนึ่งว่า ในเวทีการแข่งขันนั้น มีเพียงแค่สามคนเท่านั้นในเกมส์การแข่งขันคือ ตัวนักกีฬา คู่ต่อสู้และกรรมการผู้ตัดสิน การต่อสู้ของนักกีฬาที่ใช้สิทธิในประเภทดาบฟอล์ยและเซเบอร์ สำคัญอย่างยิ่ง ในการแสดงสิทธิให้ผู้ตัดสินได้ชัดเจนไม่ครุมเครือ ตามกติกาแล้วแม้นว่าจะใช้วีดีโอตัดสิน ก็ยังให้สิทธิในการตัดสินกับกรรมการกลาง วีดีโอเป็นเพียงเครื่องช่วยกรรมการผู้ตัดสินเท่านั้น

 

เมื่อเราเข้าใจในระบบการแข่งขันแล้ว ถ้าจะมีคำถามว่านักกีฬาจะเก่งโดยไม่มีผู้ฝึกสอนได้ไหม คำตอบว่า ได้ แต่นักกีฬาจะไปไม่ถึงจุดสูงสุด เปรียบเทียบได้กับเด็กทารกที่หัดคลานถ้าไม่มีพ่อแม่หรือผู้ฝึกสอน เด็กจะพัฒนาการคลานให้เร็วขึ้น แต่สำหรับเด็กที่มีผู้ฝึกสอนจะสอนให้เด็กตั้งไข่ ยืนขึ้นและค่อยๆ ก้าวเดิน มันจะช้ากว่าการคลานแน่นอนแต่เมื่อไรที่เด็กยืนและเดินได้ ก็จะพัฒนาจากเดินเป็นวิ่ง ต่อให้เด็กที่พัฒนาการคลานเร็วเท่าไรก็จะไม่เร็วไปกว่าการเดินและวิ่งอย่างแน่นอน


 

ดังนั้นจะเปรียบเทียบได้กับนักกีฬาที่เริ่มต้นไม่ถูก เช่นเดียวกับเด็กที่คลานและจะหลงผิดว่าเขาเคลื่อนที่ได้เร็ว กว่าเด็กที่เริ่มตั้งไข่ เมื่อกล้ามเนื้อได้พัฒนาผิดไปแล้ว เด็กที่คลานก็จะไม่สามารถพัฒนาสู้เด็กที่เริ่มต้นโดยการตั้งไข่และเดินได้อย่างแน่นอน แล้วผู้ฝึกสอนฟันดาบจะสอนอะไร นอกจากระเบียบวินัย คุณธรรม และจริยธรรมรวมทั้ง การเคารพครูบาอาจารย์แล้วนั้น การฝึกสอนในแต่ละประเภทดาบมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งระยะและจังหวะ รวมทั้งปฏิกิริยาการตอบรับ ในประเภทดาบใช้สิทธิ สิ่งที่ผู้ฝึกสอนต้องสอนนักกีฬาและสร้างการใช้สิทธิให้ถูกต้องนั้น ผู้ฝึกสอนต้องเข้าใจในกฎกติกาอย่างถ่องแท้ และฝึกให้นักกีฬารู้ว่าจะแสดงให้กรรมการเห็นอย่างไรว่าตนเองมีสิทธิอยู่ โดยผู้ฝึกสอนจะจำลองท่าการฝึกให้นักกีฬาฝึกแสดงสิทธิอย่างช้าช้า เมื่อถูกต้อง ผู้ฝึกสอนก็จะให้จังหวะที่ถูกต้อง เร็วและช้าสลับกันบางครั้งต้องเร็วบางครั้งต้องช้า (เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะถ้าให้จังหวะผิดนักกีฬาจะมีประสาทการตอบรับที่ผิด ) และต้องเรียนรู้การใช้ช่วงกำลังในการแข่งขัน ช่วงในจะต้องใช้มากและช่วงใดต้องใช้น้อย รวมทั้งผู้ฝึกสอนจะจำลองท่าทางต่างๆ จนนักกีฬาได้เรียนรู้และสามารถใช้ท่าทางรวมทั้งการแทงหรือฟันได้อย่างเม่นยำ ในกีฬาฟันดาบ ปฏิกิริยาตอบรับเป็นสิ่งสำคัญมาก ในเกมส์การต่อสู้ จะไม่มีเวลามาคิด ว่าจะทำอย่างไร แต่นักดาบที่มีประสบการณ์มากกว่าและเคยเจอคู่ต่อสู้ที่หลากหลายกว่า จะทำให้ สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามแรง และพละกำลังก็มีผลต่อการเล่นฟันดาบแต่จะมีผลน้อยกว่าการเล่นฟันดาบที่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่านักกีฬาหนุ่มๆ หลายคนยังแพ้คนแก่ ที่ไม่มีแรง แต่มีการเล่นที่ถูกต้อง

น.ท.สุรชัย อุดมสุข เริ่มต้นเล่นดาบอย่างไร ผมโดนชักชวนมาเล่นกีฬาฟันดาบ โดย นรร.สมพล ศรีสดใส ประมาณปี ๒๕๓๔ ปี ๒๕๓๕ ติดทีมชาติไปแข่งที่ออสเตรเลียโอเพ่น ได้อันดับที่ ๘ และปี ๒๕๓๖ ได้แชมป์ฟอล์ยบุคคลชิงแชมป์ประเทศไทย

 

จากประสบการณ์การเป็นนักกีฬาฟันดาบ เริ่มต้นผมเองไม่ใช่คนเก่งแต่อย่างไร แข่งครั้งแรกๆก็แพ้มาเหมือนกัน แต่ในมุมมองการฝึกนั้นผมได้ศึกษาเรียนรู้มาจากอาจารย์ทองหล่อ อย่างหนึ่งว่า เราต้องศึกษาคู่ต่อสู้ว่าเขาเล่นแบบไหน และเราจะแก้ไขอย่างไร และจะฝึกอย่างไร โดยผมจะนำรูปแบบการเล่นที่ผมแพ้มาให้ น้องๆ ในชมรมฟันดาบ รร.นายเรือ จำลองท่าที่ผมแพ้ เพื่อผมจะได้ฝึกและแก้ไข ทำให้ในการแข่งขันต่อๆ มา ผมจะเป็นผู้ชนะคนที่ผมเคยแพ้มา ถ้าเขายังไม่เปลี่ยนรูปแบบการเล่น ต่อมาในการแข่งขันในช่วง ๒ ปีแรกผมยังไม่ประสบความสำเร็จในการได้รางวัลชนะเลิศ ได้เพียงแค่อันดับ ๒ และ อันดับ ๓ เท่านั้น จึงได้กลับมาวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไรพบว่าในช่วงการแข่งขันรอบลึกๆ ผมเป็นตะคริว และไม่มีแรง จึงได้มาเรียนรู้ว่าการใช้แรงว่า ในรอบใดควรจะใช้แรงมากน้อยเพียงใดเพื่อมีแรงให้ถึงในรอบลึกๆ ในการแข่งขันแต่ละครั้ง ใช้แรงให้น้อยที่สุด เพียงพอที่จะเป็นผู้ชนะได้ ผมฝึกจนในประเทศไทยไม่มีใครที่สามารถจะชนะผมได้ ผมได้มีโอกาสแข่งขันในไทยเลนด์โอเพ่นครั้งแรกในนามทีมจากกองทัพเรือแข่ง ที่ รร.เตรียมทหาร สวนลุมพินี ใช้ชื่อว่า Tasa game ถ้าจำไม่ผิดเป็นปีเฉลิมฉลองสมเด็จพระราชินีทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ผมเล่นไม่ได้ เลย ไม่สามารถสู้กับ นักกีฬาจาก เกาหลี หรือจีนได้เลย จะสูสีกับนักกีฬาจากประเทศ อินโดนีเชีย แต่ก็แพ้ ๕ : ๔ ตอนนั้น อุปกรณ์ ไม่ครบและไม่พร้อม มีเพียง อ.สุจิตร จากเชียงใหม่เป็นผู้คอยดูแลคอยซ่อมดาบให้ ผมจึงได้เรียนรู้การสะบัดดาบจากจีนและเกาหลี โดยนำมาฝึกใช้บริการจากน้องๆ นักเรียนนายเรืออีกเช่นเคย ในสมัยนั้นผู้ที่เล่นสะบัดดาบมีเพียง ๓ คน คือ พี่ต้น(นายชินวัฒน์ เนือยทอง) พี่ตู่ (นรต.สรรพวัฒน์ สุขศิริ) และผม นรร.สุรชัย อุดมสุข ผมฝึกจนมั่นใจในการสะบัดดาบอย่างมาก ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้ผมประสบความสำเร็จอย่างมากในการแข่งขันภายในประเทศ ทุกระดับทุกการแข่งขัน ทั้งเกษตรโอเพ่น จุฬาโอเพ่น ธรรมศาสตร์โอเพ่น ชิงแชมป์ประเทศไทย ผมได้รางวัลชนะเลิศ ทุกการแข่งขัน จนมีการแข่งขัน ไทยแลนด์โอเพ่นในปีต่อมา ผมก็ยังไม่สามารถสู้กับนักกีฬาจากเกาหลีและ นักกีฬาจากญี่ปุ่นได้ เลย เราแพ้เพราะเล่นได้จังหวะเดียว นักกีฬาจากเกาหลีและญี่ปุ่นเล่นได้หลายจังหวะ ผมไม่สามารถสอนให้น้องๆ ใน รร.นายเรือ ป้อนจังหวะการเล่นที่หลายจังหวะได้

 

หลังจากแข่งซีเกมส์ครั้งที่ ๑๘ ที่ จ.เชียงใหม่ ผมได้เหรียญทองแดงประเภทบุคคล และ นำทีมได้เหรียญเงิน เป็นเหรียญที่ผมภูมิใจมากแต่ก็เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้คู่ต่อสู้ เพราะเนื่องจากก่อนการแข่งขัน ๑ ปี จะมีการแข่งขันเซียบเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ สมาคมฟันดาบ ได้ประกาศคัดเลือกนักกีฬาไปแข่งขัน เก็บค่าสมัครคนละ ๑๐๐ บาท เอานักกีฬา ๒ คน ผมคัดได้ที่ ๑ นรต.วรพจน์ รุ่งกระจ่างได้ที่ ๒ หลังแข่งเสร็จ สมาคมฟันดาบ จัดประชุมแล้วประกาศไม่เอานักกีฬาฟอล์ยชาย ไปร่วมการแข่งขัน เซียบเกมส์ ด้วยเหตุผลที่ว่าฝีมือต่ำกว่ามาตรฐาน

 

ต่อจากนั้นด้วยเหตุผลที่ตัวผมเองต้องการก้าวไปสู่จุดที่ไกลที่สุดของกีฬาฟันดาบ หลังจากจบจาก รร.นายเรือ และรับราชการทหารในตำแหน่งนายทหารไฟฟ้าอาวุธ ร.ล.สงขลา และเรือไม่ได้ออกราชการได้รับการชักชวนจาก ร.ต.ต.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง ได้ชวนไปฝึกฟันดาบสากลที่ ชมรมหงโข่ว เชี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เอาไว้แค่นี้ก่อนและผมจะมาเล่าต่อ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจที่พี่ๆ น้องๆ จะนำไปปรับใช้ได้